ที่บ้านจะทำเมนูนี้ติดตู้เย็นไว้เลยค่ะ ใครไปใครมาจะได้ชิมเมนูนี้เเล้วติดใจจะต้องกลับมาทานข้าวที่บ้านอีกคะ เป็นเมนูที่คุณยายชอบทำและชอบทานด้วยค่ะ คุณยายสอนเคล็ดลับการทำปลาร้าทรงเครื่องสูตรคุณยายค่ะ อย่างแรกเลยเราจะต้องมาต้มน้ำปลาร้าเอาหางกะทิ เทปลาร้าทั้งน้ำทั้งเนื้อใส่ลงไปตามด้วยตะไคร้ที่ทุบพอแตกหั่นเป็นท่อนสั้น ๆ กับข่าสับหยาบ ๆ และใบมะกรูดฉีก …. ตั้งไฟอ่อนเคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเนื้อปลาร้าละลายไปกับกะทิทั้งหมด ก็ปิดไฟเตา ยกลงกรองเอาแต่เฉพาะน้ำ จากนั้นหันมาเตรียมผักต่าง ๆ ที่เราจะใช้ใส่ในปลาร้าทรงเครื่องของเรากันต่อค่ะ สำหรับพริกหยวก ก็ล้างน้ำแล้วหั่นเป็นท่อนสั้น พริกขี้หนูแดงก็ล้างน้ำแล้วเด็ดขั้วทิ้งไปค่ะ ตะไคร้ ก็เลือกต้นอวบๆ ตัดโคน ลอกกาบที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไป ล้างน้ำให้สะอาด แล้วซอยเฉียง ๆ บาง ๆ ไว้ค่ะ (เอาเฉพาะส่วนที่อ่อน เคี้ยวได้นะคะ) ส่วนกระชายก็ขูดผิวออกบ้าง ล้างน้ำให้สะอาด แล้วซอยเป็นเส้น ๆถั่วฝักยาว เลือกฝักแน่นๆ ล้างน้ำแล้วหั่นเป็นท่อนสั้นประมาณ 1 นิ้วเอาไว้ ใบมะกรูดก็เลือกที่ใบแก่ ๆ สีเขียวเข้ม ล้างน้ำแล้วฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไว้ค่ะ หน่อไม้ต้ม เอามาหั่นเป็นชิ้นพอคำแบบในภาพนะคะ ส่วนมะเขือก็ตัดขั้วออกล้างน้ำ แล้วหั่นแต่ละลูกเป็น 4 – 6 ชิ้น (ตามขนาดผล) แล้วแช่ในน้ำผสมเกลือป่นเล็กน้อยไว้ค่ะ (เพื่อไม่ให้มะเขือดำ) เมื่อเตรียมเครื่องต่าง ๆ เสร็จก็มาลงมือทำกันนะคะ เทน้ำปลาร้าที่เราต้มกับหางกะทิไว้แล้วใส่ลงไปในหม้อใบย่อมๆ สักใบนะคะ แล้วเอาไปตั้งเตาไฟ เปิดไฟกลาง …… พอน้ำปลาร้าเดือดก็ใส่ปลาดุกลงไป ปิดฝาหม้อ อันนี้เคล็ดลับค่ะ ไม่ต้องคนไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นค่ะ รอจนปลาดุกสุกก็ค่อยเปิดฝา (ประมาณ 5-7 นาที) พอปลาดุกสุกดี (เนื้อแข็ง ไม่เละ) ก็ใส่กระชายซอย หน่อไม้ ตะไคร้ และมะเขือเปราะผ่าซีกที่เราเตรียมไว้แล้วลงไปค่ะ แล้วก็รอสักแป๊บนึงให้มะเขือสุก
พอมะเขือสุกก็ใส่ผักทั้งหมดที่เหลือ (พริก 2 อย่าง ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว) ตามด้วยหัวกะทิ … ราดลงไปให้ทั่ว ๆ เลยค่ะ ป.ล. บางคนเค้าก็จะใส่ผักทั้งหมดลงไปพร้อมกันเลย แต่พอมชอบใส่พวกพริกและถั่วฝักยาวทีหลัง เพราะไม่อยากให้มันสุกมากไป อยากให้เวลาเคี้ยวแล้วยังกรอบ ๆ อยู่หน่อยนึงอ่ะค่ะ แต่ถ้าเพื่อน ๆชอบผักนิ่ม ๆ หน่อย จะใส่ไปพร้อมกับหน่อไม้ กระชายพวกนั้นเลยก็ได้นะคะ แล้วทำการปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก … พอเดือดอีกทีก็ตักน้ำขึ้นมาชิมรสชาติว่าไปไหนทางไหน ก็ให้ออกเปรี้ยวนิด ๆ เค็มหน่อยๆ หวานจากกะทิ และหอมกลิ่นปลาร้าอะไรประมาณนั้นอ่ะค่ะ ซึ่งหากชาดรสไหนไปก็เติมเพิ่มได้ตามใจชอบเลยค่ะ แต่ถ้าเกิดเค็มเกินไปหรือเปรี้ยวเกินไปก็อาจจะลดเค็มลดเปรี้ยวด้วยการเติมน้ำเปล่าหรือหางกะทิลงไปอีกสักหน่อยนะคะ จากนั้นก็รอให้เดือดอีกทีก็เป็นอันใช้ได้ ปิดไฟเตา แล้วยกลงได้เลยจ้า เคยขนาดที่บ้านทำไปถวายพระ จนหลวงพี่เอยปาก โยมถ้ามาถวายเพล อย่าลืมเมนูปลาร้าทรงเครื่อง อยากฉันอีกค่ะ ^^